รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร ปลูกถ่ายไขกระดูกสำเร็จรายแรกในเขตภาคเหนือตอนล่าง คนไข้เป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอายุ 17 ปี เตรียมวิจัยกับอีก 5 ผู้ป่วย
ผศ.นพ.พีระพล วอง หัวหน้าศูนย์วิจัยโลหิตวิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เทคโนโลยีการปลูกถ่ายอวัยวะเริ่มมาตั้งแต่ประมาณ 20 ปี สามารถรักษาโรคที่เกี่ยวกับไขกระดูกและมะเร็งที่ต้องการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงซึ่งทำลายไขกระดูกไปด้วย จึงจำเป็นต้องทำการเก็บรักษาไขกระดูกไว้ทดแทนส่วนที่ถูกทำลาย
โดยหลักมีวิธีการรักษา 2 วิธี คือ
1.ปลูกถ่ายโดยใช้ไขกระดูกของตนเอง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะทำการรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงเพื่อกวาดล้างเซลล์มะเร็งให้หมดไป ขณะเดียวกันเคมีบำบัดขนาดสูงนี้จะไปทำลายไขกระดูกของคนไข้ไปหมดทำให้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้
เพราะฉะนั้นก่อนที่ให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงก็ต้องเก็บไขกระดูกคนไข้แช่แข็งไว้ก่อน หลังจากให้ยาไปแล้วจะนำเซลล์ของคนไข้มาคืนให้กับตัวคนไข้ ทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้
2. การปลูกถ่ายโดยใช้ไขกระดูกของผู้อื่น วิธีการเหมือนกันแต่ไขกระดูกของผู้อื่น อาจเป็นพี่น้องหรือผู้อื่นที่มีเนื้อเยื่อตรงกันไปทดแทน
ทั้งนี้ ศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500,000 บาท เริ่มทำการรักษาแบบปลูกถ่ายโดยใช้กระดูกของตนเอง คนไข้รายแรกเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอายุ 17 ปี เริ่มการรักษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 คนไข้มาด้วยก้อนที่คอ เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองต้องใช้เคมีบำบัดขนาดสูง จึงเก็บไขกระดูกของคนไข้ไว้
หลังจากให้เคมีบำบัดแล้วก็เอาเซลล์กลับมาคืน กระบวนการทั้งหมดใช้เวลา 4 เดือน คนไข้หายขาดจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่ต้องกินยาต่อเนื่อง แข็งแรงดี โอกาสการเกิดซ้ำนั้นมีได้ แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่โอกาสจะเกิดซ้ำก็น้อยลง
ด้านงบประมาณที่ใช้ในการรักษาประมาณ 300,000-400,000 บาท เพื่อเก็บเซลล์ ค่ายาเคมีบำบัด ค่ายากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เลือดและเกร็ดเลือด นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือกับโรงพยาบาลพุทธชินราช สำหรับคัดกรองคนไข้ 5 คนแรก ทางมูลนิธิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวรจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ทั้งนี้ ทีมงานได้เรียนรู้วิธีการให้เซลล์ต้นกำเนิด การดูแลคนไข้ช่วงที่เม็ดเลือดขาวต่ำ การเก็บเซลล์ที่ถูกต้อง และในฐานะอาจารย์แพทย์ ตรงนี้คือสิ่งที่สามารถนำไปใช้สอนนิสิตแพทย์ได้อย่างดีมาก ในอนาคตก็ตั้งใจว่าจะพัฒนาใช้ปลูกถ่ายไขกระดูกตนเองสักระยะ แล้วพัฒนาการสู่การปลูกถ่ายไขกระดูกของผู้อื่นต่อไป
"ปัจจัยความสำเร็จ คือคนไข้อดทน มีแม่คอยให้กำลังใจ ทีมงาน แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ที่ต้องตรวจนับเซลล์ต้นกำเนิด ต้องอาศัยทำงานเป็นทีม ผู้สนับสนุนคือมูลนิธิโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องขอบพระคุณผู้ที่บริจาคทุกท่าน”ผศ.นพ.พีระพล กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น