วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กังหัน พลังน้ำ ต้นแบบ ตามแนว พระราชดำริ

ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ทีมนักวิจัย มก.สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ มาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศได้สำเร็จ โดยสามารถออกแบบกังหันต้นแบบที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ ลดการนำเข้าอุปกรณ์ราคาแพงจากต่างประเทศ และต่อยอดองค์ความรู้การผลิตกังหันประยุกต์ใช้กับประตูระบายน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ทั่วประเทศ เป็นพลังงานทดแทนอีกทางหนึ่ง
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) เป็นประธานการแถลงข่าว เปิดตัวทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการออกแบบ กังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำตามแนวพระราชดำริ ที่ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี นายชลิต ดำรงศักด์ อธิบดีกรมชลประทาน ร่วมแถลงข่าว รศ.ดร.เจษฎา แก้วกัลยา ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการ ศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวว่า โครงการ ศึกษาศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ ในการนำพลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลองมาใช้ประโยชน์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้นำมาสู่การออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบติดตั้งที่ตอม่อท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ฯ เป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 5.74 kW.

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำพลังงานน้ำ มาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในประเทศได้สำเร็จ
"ซึ่งการผลิตชุดกังหันพลังน้ำ นี้ใช้อุปกรณ์จากต่างประเทศเฉพาะ Permanent Magnet Generator และ Inverter & Controller เท่านั้นส่วนประกอบที่เหลือทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ผลิตขึ้นเองโดยใช้วัสดุภายในประเทศ ซึ่งการ ผลิตชุดกังหันพลังน้ำสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประตูระบายน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ทั่วประเทศ อาทิ ประตูระบายน้ำบรมธาตุ โดยได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ กรมชลประทาน ไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2552 ในโครงการนำร่องศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของประตูระบายน้ำบรมธาตุด้านไฟฟ้าพลังน้ำและการติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ประจำปี 2553" ทั้งนี้ ทีมงานได้ทำการออกแบบและผลิตชุดกังหัน พลังน้ำที่เหมาะสมกับกายภาพและการบริหารจัดการประตูระบายน้ำบรมธาตุ พร้อมติดตั้งชุดกังหันผลิตไฟฟ้า พลังน้ำนำร่องอย่างน้อย 4 ชุด เพื่อให้ได้กำลังการผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 80 kW. และเมื่อผลการพัฒนาโครงการนำร่องสำเร็จก็จะขยายผลไปยังโครงการชลประทานต่าง ๆ ต่อไป

รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี หัวหน้าโครงการศึกษาฯ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยได้ออกแบบชุดกังหันพลังน้ำต้นแบบที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการประตูคลองลัดโพธิ์ มีประสิทธิภาพสูง สะดวกต่อการปฏิบัติงานและซ่อมบำรุง และมีราคาประหยัด คือ แบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) โดยใบพัดต้นแบบที่วิเคราะห์และผลิตขึ้นแบบหมุนตามแนวแกน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.00 เมตร และแบบหมุนขวางการไหลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.00 เมตร ยาว 2.50 เมตร ที่ความเร็วน้ำออกแบบ 2.0 เมตร/วินาที (Design Velocity) จะได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5 kW.

การออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบติดตั้งที่ตอม่อท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ฯ เป็นต้นกำลังไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 5.74 kW.
"ชุดกังหันพลังน้ำต้นแบบทั้ง 2 จะประกอบและติดตั้งกับโครงเหล็กที่ปรับขึ้นลงได้ที่ท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ ใช้กังหันพลังน้ำเป็นต้นกำลังที่เชื่อมต่อกับเกียร์ทดรอบไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรที่บรรจุอยู่ภายในกล่องที่จมน้ำได้ โดยโครงเหล็กจะอยู่ในช่องใส่บานซ่อมบำรุง (Bulk head) ที่ตอม่อท้ายประตูคลองลัดโพธิ์ เมื่อเดินชุดกังหันน้ำต้นแบบจะได้พลังงานไฟฟ้าเป็นแบบกระแสสลับ แล้วใช้ Rectifier เปลี่ยนเป็นกระแสตรงแล้วเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์แปลงและควบคุมกระแสไฟฟ้า (Inverter & Controller) ซึ่งจะปรับแรงดันและความถี่เพื่อเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง โดยได้ทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2551 ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 kW. ซึ่งสูงกว่าที่ได้วิเคราะห์และคำนวณออกแบบไว้ ทำให้มั่นใจได้ว่าการวิจัยและออกแบบชุดกังหันต้นแบบในครั้งนี้ สามารถจะนำไปขยายผลในการผลิตไฟฟ้าที่ประตูระบายของกรมชลประทานที่มีอยู่ทั่วประเทศได้"

ทั้งนี้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ วิศวกรรมไฟฟ้า และการเดินเรือ จากนักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และวิทยาเขตศรีราชา ซี่งมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิจัยการนำพลังน้ำมาใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในอนาคต โดยใช้ศักยภาพของกังหันลมเป็นต้นแบบ

อ้างอิง google.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น