วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สมองเสื่อม...ความผิดปกติที่รักษาได้

สมองของคนเราเป็นอวัยวะที่มีความสลับซับซ้อนในการทำงาน เซลล์สมองเป็นเซลล์ที่มีความจำเพาะ และเปราะบางที่สุด หากเซลล์สมองซึ่งในคนปกติมีอยู่นับพันล้านตัวเกิดการเสียหาย จะไม่มีการสร้างมาทดแทนได้เช่นอวัยวะอื่นๆ มนุษย์เราทราบถึงความมหัศจรรย์ในการทำงาน และความสามารถของสมองมานานแล้ว จึงได้พยายามหาวิธีที่จะเพิ่มศักยภาพของสมองให้ตัวเองฉลาดขึ้น หรือหายาที่จะช่วยบำรุงให้สมองดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสพผลสำเร็จ ตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักมีปัญหาเรื่องความจำ มักจะหลงลืมง่าย หรือบุคลิกภาพ และอารมณ์ผิดไปจากปกติ บางรายเป็นมากจนจัดอยู่ในขั้นภาวะสมองเสื่อม เมื่อพูดถึงโรค “สมองเสื่อม” เรามักคิดถึงโรคอัลไซเมอร์ก่อนเป็นสิ่งแรก ทั้งที่ในความจริงแล้วสมองเสื่อมคือภาวะหนึ่งของสมองซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และที่สำคัญ ใช่ว่าภาวะนี้จะเกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น ในผู้ที่มีอายุน้อย วัยรุ่นหนุ่มฉกรรจ์ ก็อาจเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากโรคพันธุกรรม โรคการติดเชื้อของสมอง สารพิษ โรคหลอดเลือดสมอง หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุ เป็นต้น

ภาวะสมองเสื่อม
เพื่อความเข้าใจถึงภาวะสมองเสื่อมที่ชัดเจน นายแพทย์สุพล เจริญจิตต์กุล อายุรแพทย์ระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้อธิบายไว้ว่า “โดยทั่วไปคนไข้มักจะเข้าใจว่าภาวะสมองเสื่อมก็คือการมีความจำแย่ลง แต่จริงๆ แล้วยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม การรับรู้-การเรียนสิ่งใหม่ๆ เสื่อมถอย นอกจากนี้บางคนอาจมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติอันเนื่องมาจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลง เช่น ในโรคพาร์คินสันซึ่งก็คือภาวะสมองเสื่อมอย่างหนึ่ง คนไข้อาจจะมือสั่น เดินซอยเท้า การทรงตัวไม่ดี แต่โดยทั่วไปแล้ว อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด คือเกือบครึ่งหนึ่งของคนไข้ที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่อายุเกิน 65 ปี ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุยังอาจเกิดจากโรคของหลอดเลือดสมอง ทั้งหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก “ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่สามารถนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ในทุกวัยนั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อในสมอง เช่น เชื้อไวรัส Herpes Encephalitis, ซิฟิลิสขึ้นสมอง, ภาวะเนื้องอกในสมองส่วนที่ควบคุมพฤติกรรม, ภาวะน้ำในโพรงสมอง (Normal Pressure Hydrocephalus), เลือดออกที่ใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural Hematoma), การขาดวิตามินบี12, ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง, โรคลมชักที่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง, ผู้ได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว เป็นต้น โดยภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มนี้หากได้รับการวินิจฉัยโรคโดยเร็ว และทำการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยก็มีโอกาสที่จะกลับคืนสู่สภาพปกติได้ แต่หากได้รับการรักษาช้า สมองย่อมจะถูกทำลายไปมาก แม้จะได้รับการรักษาก็อาจมีความพิการของสมองหลงเหลืออยู่ได้”
การรักษาภาวะสมองเสื่อมทำได้อย่างไรการรักษาภาวะสมองเสื่อมนั้น คุณหมอสุพลบอกว่า มีทั้งโรคที่สามารถรักษาได้ผลดีและรักษาได้บางส่วน แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “อยากให้ตระหนักกันว่า ยังมีภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคต่างๆ ซึ่งสามารถรักษาได้หากมาพบแพทย์ทันท่วงทีและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ใช่มองแต่ว่าภาวะสมองเสื่อมคืออัลไซเมอร์ และรักษาไม่หายขาด” คุณหมอกล่าว แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนของการรักษา จะต้องทราบถึงสาเหตุเสียก่อน ดังนั้นขั้นตอนในการวินิจฉัยโรคจึงมีความสำคัญมาก “ก่อนอื่นเราต้องตรวจให้ได้เสียก่อนว่าคนไข้มีภาวะสมองเสื่อมจริงหรือไม่ เพราะยังมีภาวะสมองเสื่อมเทียม (Pseudodementia) ที่อาจเกิดจากโรคซึมเศร้า คนไข้จะมีอาการวิตกกังวล ไม่มีสมาธิที่จะจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีเหมือนคนปกติ อาการเช่นนี้ก็ทำให้ดูเหมือนมีภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ส่วนจะใช้เวลานานเพียงใดกว่าที่จะแสดงอาการของภาวะสมองเสื่อมนั้น ไม่สามารถบอกได้ แต่กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมเทียมจากอาการซึมเศร้า คนไข้จะแสดงอาการไม่นานก็มักมาพบแพทย์ แต่หากเป็นอัลไซเมอร์ จะใช้เวลาเป็นเดือนในการที่จะแสดงอาการให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอาศัยข้อมูลการเฝ้าสังเกตอาการจากญาติถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “เมื่อตรวจพบว่าคนไข้มีภาวะสมองเสื่อมจริง แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อแยกโรคต่างๆ ซึ่งรวมการตรวจเลือด การตรวจสมองด้วยการทำ CT Scan หรือการตรวจ MRI ตรวจคลื่นสมอง EEG เป็นต้น เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็รักษาที่ต้นเหตุ แต่การรักษาจะได้ผลดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรค ตัวอย่างเช่น การติดเชื้อในสมอง คนที่มีอาการ 1 วัน สมองย่อมจะไม่ถูกทำลายมากเท่ากับคนที่มีอาการมาแล้ว 4-5 วัน เมื่อได้รับการรักษา สมองย่อมฟื้นตัวได้ดีกว่า ยิ่งมาพบแพทย์เร็ว ได้รับการรักษาเร็ว สมองก็แทบจะไม่มีผลเสียหายตามมา”

จะป้องกันตนเองจากภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร คุณหมอสุพลยังได้ฝากวิธีง่ายๆ ในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม คือการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจจะโดยการวิ่งเหยาะๆ วันละ 30 นาที ให้ได้มากกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ต้องดูแลตัวเองไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยง ไม่ให้มีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง สิ่งใดที่ทำแล้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ควรงดเสีย และเมื่อเกิดอาการผิดปกติใดๆ อย่าซื้อยารับประทานเอง เพราะยาหลายชนิดจะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมเมื่อรับประทานเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ หรือยาบางชนิดก็ทำให้เกิดอาการมือสั่นหรือแข็งเกร็งคล้ายพาร์คินสันได้ “ที่สำคัญคือทั้งตัวเราเอง และบุคคลรอบข้างควรสังเกตซึ่งกันและกันคือถ้ามีบุคลิกเปลี่ยนแปลง สับสน ความจำเสื่อมลง พฤติกรรมเปลี่ยนไป ยิ่งถ้ามีไข้ร่วมด้วย ยิ่งต้องรีบพามาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป” คุณหมอสุพลกล่าวสรุป

อ้างอิง http://www.vcharkarn.com/varticle/39912

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น